วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

12 คำ จากร้อยคำ ที่ควรรู้

การจัดการความรู้ (Knowledge Management) – KM
การจัดการความรู้ (Knowledge Management – KM) เป็นกระบวนการเรียนรู้หนึ่งซึ่งเดิมภาคธุรกิจเสียดายพนักงานที่จะเกษียณอายุ หรือลาออก นำความรู้ที่มีอยู่ไปด้วยโดยไม่ได้ถ่ายทอดให้คนอื่น จึงคิดค้นวิธีที่จะนำความรู้ประสบการณ์โดยการบอกเล่า , สัมภาษณ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล นำมาวิเคราะห์ นำไปประยุกต์ใช้ถ่ายทอดต่อไป

การพึ่งตนเอง (Self - Relianee)
การพึ่งตนเองเป็นภาวะอิสระ หมายถึง ความสามารถของคนที่จะช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุดไม่เป็นภาระคนอื่น มีความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มีปัจจัยสี่อย่างพอเพียง มีความพร้อมของชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ การพึ่งตนเองเป็นการจัดชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม มีความมั่นคงในชีวิตปัจจุบันและอนาคต
เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นรากฐานของการพึ่งตนเองในทุกระดับโดยรวม ดังที่ทรงมีกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า
“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พัฒนาบนความมั่นคงพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว ค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นสูงในลำดับต่อไป”

การวิเคราะห์ (Analysis)
การวิเคราะห์ คือ การแยกแยะทางความคิด วัตถุ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่ทำให้เกิดเป็นสิ่งนั้น เช่น การวิเคราะห์ปัญหาความยากจน การวิเคราะห์เรื่องโรคเอดส์
จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เป็นวิธีการค้นหาสาเหตุที่ฝังลึกในการบำบัดความผิดปกติทางจิตโดยอาศัยแนวคิดทางจิตวิทยาของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์
การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นกระบวนการที่นำเอาสิ่งที่แยกกันสองหรือมากกว่าโดยเฉพาะความคิดมาร่วมกันให้เป็นทฤษฎี หรือบูรณาการให้เป็นองค์รวมในแนวคิดวิภาษของเชเกล การสังเคราะห์เป็นผลลัพธ์ของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ไปแย้งกับอีกปรากฏการณ์หนึ่ง และสังเคราะห์เป็นปรากฏการณ์ใหม่เช่นนี้เรื่อยไป


คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)
คาร์บอนเครดิต คือ การดำเนินการทดแทนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้พลังงานน้ำมันในงานอุตสาหกรรมยานยนต์ อันเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน คาร์บอนเครดิตที่สำคัญคือ ป่าไม้ธรรมชาติ ซึ่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ชาติมหาอำนาจต่าง ๆ ได้ลงนามในสารเกียวโตเพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ 5.2% ในปี 2555 ในเวลาเดียวกันก็หาทางควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

จิตตปัญญาศึกษา
จิตตปัญญาศึกษา เป็นการศึกษาที่นำไปสู่การพัฒนาคนแบบองค์รวมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ที่ศึกษา เปลี่ยนจิตสำนึก เปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองโลกความเป็นจริงเกิดความอิสระ ปรับความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น และต่อธรรมชาติได้อย่างสมดุล จิตตปัญญาศึกษาการเรียนรู้จากธรรมชาติ การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมทำให้เข้าถึงความดี ความจริง โดยไม่แยกชีวิตออกจากชุมชน การเปลี่ยนแปลงตนเองจึงสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย

จิตสำนึก (Consciousness Awareness)
จิตสาธารณะ (Public Mind)
ในความหมายทางชีวจิตวิทยา หมายถึง การรับรู้ การรู้ตัว สั่งการได้เจตนาอันเป็นปัจจุบัน จิตใต้สำนึก เป็นตัวเราที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งผลักดันให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งปกติและไม่ปกติ ในความหมายทางสังคม หมายถึง การรับรู้ในหน้าที่ และรับผิดชอบต่อผู้อื่นเป็นความหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าหรือศีลธรรม ตัวอย่างเช่น แก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ คงทำได้ยากถ้าหากไม่ช่วยกันสร้างจิตสำนึกการเคารพกฎหมายและการมีวินัย
ในประเทศไทยเริ่มมีการใช้คำว่า “จิตสาธารณะ” (Public Minded Spirited Person) เพื่อหมายถึงบุคคลที่มีจิตสำนึกทางสังคมมีความรับผิดชอบและเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นคนในกว้างเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

จีดีพี (GDP ตัวชี้วัดเศรษฐกิจ)
จีดีเอช (GDH ตัวชี้วัดความสุข)
จีดีพี (GDP – Gross Domestic Product) แปลเป็นไทยผลิตภัณฑ์มวลประชาชาติ ซึ่งหมายถึงมูลค่าตลาดทั้งหมดของสินค้าและการบริหารในประเทศในหนึ่งปีตัวเลขดังกล่าวได้มาจากตัวเลขการบริโภคการลงทุน การใช้จ่ายของรัฐบาล บวกตัวเลขการส่งออก ลบด้วยตัวเลขการนำเข้า มีการวิพากษ์วิจารณ์การวัดจีดีพีด้วยว่าไม่สมบูรณ์และไม่ตรงกับความจริง จีดีพีไม่ได้แยกระหว่างอะไรเป็นที่พึงปรารถนา อะไรไม่พึงปรารถนา จีดีพีจึงเป็นการบวกตัวเลขการใช้จ่ายของประชาชนแล้วเรียกมันว่าการเติบโต วันนี้ปรากฏชัดแล้วว่าประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมีปัญหาความเครียด การทำงานหนัก มีความกลัวความไม่มั่นคงของชีวิตมากขึ้น ระหว่างปี 1975 – 1995 จีดีพีของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 แต่คนอเมริกันไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้นเลย
มีงานวิจัยพบว่าปัจจัยที่ทำให้คนมีความสุข 7 อย่าง คือ สุขภาพ จิตที่ดี การงานที่มั่นคง ชีวิตส่วนตัวที่มั่นคง มีความรัก ชุมชนปลอดภัย คุณค่างทางศีลธรรมและเสรีภาพ ประชาชนเริ่มสนใจประเทศเล็ก ๆ ซึ่งมีพลเมืองประมาณ 1 ล้านอย่างภูฎาน ซึ่งยังปกครองในระบอบสมบูรณายาสิทธิราช มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศนี้วัดความเจริญของประเทศด้วย GNH Gross National Happiness) วัดกันด้วยความสุข ตัวชี้วัดความสุขเป็นตัวชี้วัดที่ครอบคลุมบูรณาการรอบด้าน การพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวัฒนธรรม และธรรมาภิบาลเข้าด้วยกัน ความรู้จักพอจึงเป็นความร่ำรวยที่แท้จริง

เจตจำนงทางการเมือง (Political Will)
เจตจำนงทางการเมือง (Political Will) หมายถึง ความปรารถนาและความมุ่งมั่นของฝ่ายการเมืองที่จะทำบางอย่างให้เกิดการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยมากมักจะโยงกับการพัฒนายั่งยืนโดยเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองดำเนินการให้เกิดนโยบายที่ชัดเจน เจตจำนงทางการเมืองแสดงออกให้มีการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้เรื่องนั้น ๆ เกิดขึ้นจริง อาจรวมถึงกฎระเบียบ กฎหมาย งบประมาณที่จำเป็น มีการเปรียบเทียบว่าประเทศเยอรมนีมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าอังกฤษ 200 เท่า เพราะเยอรมนีมีแผนการปฏิวัติพลังงานสีเขียวอย่างจริงจังอันแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองที่ดีกว่า

ถอดรหัส
ถอดรหัส หมายถึง การตีความการค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ ปัจจุบันใช้กันอยู่ในหลายบริบท เช่น คอมพิวเตอร์ มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ เช่น ถอดรหัสภูมิปัญญา ถอดรหัสดีเอ็นเอ ถอดรหัสชีวิต (ของใครบางคน) เดิมทีเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการตีความ (Hermeneutics) ที่ใช้ตีความในพระคัมภีร์ไบเบิล ต่อมาใช้ในการบอกเล่าหรือการสื่อสารที่ปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ การถอดรหัสเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อเข้าถึงความหมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น การถอดรหัสภูมิปัญญาไทยอย่างบ้านทรงไทย โดยอาจไม่จำเป็นต้องคงรูปแบบเดิมไว้อาจแยกเอาเนื้อหาเดิมมาประยุกต์ในรูปแบบใหม่ที่เหมาะกว่าสำหรับปัจจุบันนี้


ปฏิรูปการศึกษา
การปฏิรูปการศึกษา (รอบแรก) เกิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิรูปทางการเมืองโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (มาตรา 81) การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาล้มเหลว การจัดการทรัพยากรทางการศึกษา การวางแผนและการบริหารจัดการ จึงมีการปฏิรูปการศึกษารอบสอง
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศทศวรรษปฏิรูปการศึกษาระหว่างปี 2552 – 2561 โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา เพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษาด้วย

พลังงานลม
พลังงานลม คือ พลังงานที่ได้จากการเคลื่อนไหวของอากาศเป็นพลังงานสะอาดที่ใช้ได้ไม่มีวันสิ้นสุด ใช้กับระหัดวิดน้ำ เครื่องสีข้าวโดยใช้กังหันลม เปลี่ยนพลังงานจลน์มาเป็นพลังงานกลโดยตรง และพัฒนามาเป็นกังหันลมผลิตไฟฟ้า เป้าหมายปี 2563 คือมีพลังงานลมร้อยละ 12 ของพลังงานในโลก มีการผลิตพลังงานลมแล้วใน 50 ประเทศ โดยผู้นำคือ เยอรมนี สเปน และเดนมาร์ก
ข้อดีของพลังงานลม คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน พลังงานลมยังปราศจากสารก่อมลพิษที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความสมดุลด้านพลังงานกังหันลมสามารถสร้างเสร็จสิ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ พลังงานลมเป็นพลังงานที่น่าเชื่อถือและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากลมที่ใช้ขับเคลื่อนกังหันไม่มีค่าใช้จ่ายมีประสิทธิภาพสูง

มหาวิทยาลัยชีวิต
มหาวิทยาลัยชีวิตเดิมเป็นชื่อโครงการที่จัดการศึกษาให้ผู้ใหญ่ในชุมชนในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชา “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ซึ่งมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้ร่วมรวมและพัฒนาหลักสูตรโยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ผู้เรียนต้องจบมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า ไม่จำกัดอายุ เพศ วัย สถานภาพ ปัจจุบันสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (Life Lear mind Institute For Everyone) มีศูนย์ดำเนินการอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีศูนย์เรียนรู้อยู่ในชุมชนทั่วประเทศและเปิดการศึกษาในสาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นสุขภาพชุมชนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชุมชน